วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** รู้ทันเจ้าตัวร้าย โดย......พระไพศาล วิสาโล



ที่มา.  เฟสบุ๊ค  คุณ ดวงใจ ในเรือนธรรม 
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


"เราคุ้นกับกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะได้ยินบ่อย ที่จริงยังมีกิเลสอีกชุดหนึ่ง ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่กิเลสชุดนี้คนไทยรู้จักน้อยกว่า โดยเฉพาะคำว่ามานะ มานะแปลว่าความถือตัว ความสำคัญตัวว่าสูง หรือความอยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ส่วนตัณหาคือความอยากมีอยากได้ เช่น อยากรวย แต่ถ้าอยากใหญ่ อยากดัง อยากเด่น หรือสำคัญว่าฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า อันนี้เราเรียกว่ามานะ ส่วนทิฐิหมายถึงความยึดติดถือมั่นในความคิด เราคงเคยได้ยินคำว่า “ตัวกูของกู” ความยึดติดว่า “ของกู” หรืออยากได้มาเป็น “ของกู” นี้คือตัณหา ส่วนความยึดติดว่ามี “ตัวกู” หรือหลงยึดมั่นว่า กายและใจนี้คือ “ตัวกู” อันนี้คือทิฏฐิ ถ้าพูดให้เต็มก็คือ สักกายทิฏฐิ กิเลส ๓ ตัว คือ ตัวกู ของกู และนี่กูนะ หรือ ทิฏฐิ ตัณหา และมานะ บางทีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย
การแสดงออกของมานะ
มานะนั้นแสดงอาการได้หลายอย่าง อย่างหยาบๆ ก็คือ เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว ดูถูกคนอื่น รวมทั้ง อวดเก่ง อวดเบ่ง อวดดี อวดฉลาด ขี้โม้ อวดรวย อวดสวย อวดหล่อ อาการอวดเหล่านี้ใช่มานะทั้งนั้น
มานะยังแสดงอาการอย่างอื่นได้อีกเช่น ความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันวิเศษ จนถึงขั้นหลงตัวลืมตน ที่จริงความภาคภูมิใจก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าไร้ค่า แต่มันก็ยังเป็นกิเสลอยู่นั่นเอง นอกจากนี้มานะยังทำให้เราไม่อยากฟังคำแนะนำจากใคร ไม่ชอบเวลามีใครตักเตือนหรือวิจารณ์ อาการแบบนี้ใกล้เคียงกับกิเลสที่ชื่อทิฏฐิ ทิฏฐิคือความใจแคบ ความยึดมั่นว่าความคิดของฉันนั้นถูก ความคิดของฉันนั้นดี ดังนั้นคนไทยจึงมักเรียก ทิฏฐิมานะ คู่กัน ก็เพราะว่าทั้งทิฏฐิและมานะ ทำให้เราดื้อดึง ไม่ฟังใคร อย่างไรก็ตาม ทิฏฐิกับมานะต่างกัน ตรงที่ทิฏฐิเป็นความยึดมั่นในความเชื่อของตน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ส่วนมานะนั้นเป็นความยึดมั่นในอัตตาตัวตน คือยึดมั่นว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันถูก ก็เลยไม่ยอมฟังคำวิจารณ์"

ไม่มีความคิดเห็น: