วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** ราคาของความสะดวกสบาย






เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล จากหนังสือ เส้นโค้งแห่งความสุข – สดับทุกข์ยุคบริโภคนิยม

 จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำมาจาก เว็บ khonnaruk.com



มีนิทานเล่าว่า ชายหนุ่มผู้หนึ่งมาฝึกบำเพ็ญตบะกับอาจารย์ หลังจากฝึกมาได้หลายปี อาจารย์เห็นว่าศิษย์มีความสามารถแก่กล้าแล้ว จึงอนุญาตให้ไปบำเพ็ญพรตแต่ผู้เดียวในอีกแคว้นหนึ่ง


หนุ่มผู้นั้นมาปลูกกระท่อมนอกหมู่บ้าน แล้ววันหนึ่งก็พบว่าเสื้อของตนซึ่งมีอยู่เพียงตัวเดียว มีรอยหนูกัด พอปะชุนแล้ว วันต่อมาหนูก็ยังมากัดอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาคิดหาทางแก้อยู่หลายวัน ในที่สุดก็ไปหาแมวมาปราบหนู แต่เมื่อได้แมวมา เขาก็ต้องไปหานมมาเลี้ยงแมวด้วย หลังจากไปขอนมวัวจากชาวบ้านอยู่เดือนหนึ่ง ก็คิดว่าแทนที่จะเดินไปขอนมในหมู่บ้าน สู้หาวัวมาเลี้ยงดีกว่า


ครั้งหาวัวมาเลี้ยงแล้ว ก็ต้องหาหญ้าให้มันด้วย เนื่องจากไม่ต้องการเสียเวลาบำเพ็ญพรต เขาก็เลยไปจ้างลูกสาวชาวบ้านมาเกี่ยวหญ้าให้วัว ผ่านไปหลายเดือนเงินที่ขอทานจากชาวบ้านก็ร่อยหรอไปเกือบหมด ก็เลยหาทางออกด้วยการแต่งงานกับสาวเสียเลย จะได้ไม่ต้องเสียเงินจ้าง


เมื่อมีสาวมาอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยกันทำมาหากิน ในที่สุดก็เลยเลิกบำเพ็ญพรต กลายมาเป็นพ่อค้า หากินจนร่ำรวย แล้ววันหนึ่งอาจารย์ก็มาเยี่ยม พอเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อาจารย์ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ชายผู้นั้นอธิบายว่า "นี่เป็นวิธีที่ผมจะรักษาเสื้อของผมน่ะครับ"






นิทานเรื่องนี้สอนอะไร ?






แน่นอนนิทานเรื่องนี้ไม่ได้สอนว่า อย่าริมีเสื้อ หรืออย่ารักษาเสื้อ แก่นของเรื่องน่าจะอยู่ตรงที่ วิธีการรักษาเสื้อ มากกว่า


การรักษาเสื้อนั้นมีหลายวิธี แต่ตัวเอกในเรื่องรักษาเสื้อด้วยการหา "เครื่องทุ่นแรง" หรือวิธีที่ทำให้เหนื่อยน้อยที่สุด เช่น หาแมวมาจัดการกับหนู แทนที่จะทำตู้ใส่เสื้อ หรือทำกับดักหนู แต่ปรากฏว่าวิธีดังกล่าวแม้จะแก้ปัญหาหนึ่งได้ กลับสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน และเมื่อแก้ด้วยวิธีที่คิดว่าสะดวกสบายที่สุด ก็มีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

จนในที่สุดชีวิตก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อนจากจุดหมายเดิมจนผันแปรไป กลายเป็นว่าแทนที่เสื้อจะช่วยรับใช้ชีวิตนักพรต กลับต้องละทิ้งชีวิตนักพรตเพื่อรับใช้เสื้อ


นิทานเรื่องนี้ ไม่ได้มุ่งเตือนสตินักบวชเท่านั้น หากยังเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนทั่วไปด้วย เพราะถ้ามองให้ลึกแล้วนิทานเรื่องนี้สอนว่า ความสะดวกสบายนั้นไม่ได้มาเปล่าๆ เมื่อได้ความสะดวกสบายในเรื่องหนึ่ง ก็ต้องเกิดความไม่สะดวกสบายในอีกเรื่องหนึ่งพ่วงติดมา 

ถึงไม่ต้องวุ่นวายกับหนู แต่ก็ต้องวุ่นวานกับแมวแทน แม้ไม่ต้องเหนื่อยเพราะเดินไปขอนม แต่ก็ต้องเหนื่อยกับการเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงวัวแทน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสะดวกสบายนั้นมักมาพร้อมกับภาระเสมอ

จะพูดว่าไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ก็ได้ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า no free lunch น่าแปลกก็ตรงที่ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็พอจะรู้ว่าในชีวิตนี้ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ แต่พอมาถึงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย คนจำนวนไม่น้อยกลับคิดว่า เรามีแต่จะได้อย่างเดียว ไม่มีเสียเลย "เสีย" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเสียเงินเพื่อซื้อมันมาเท่านั้น แต่เรายังต้องเสียอย่างอื่นอีกด้วย เช่น เสียวลา เสียความสุข เพราะต้องคอยพะวงถึงมัน เป็นต้น

ตัวอย่างชัดเจนก็คือ รถยนต์ เราได้รับความสะดวกสบายจากรถยนต์หลายอย่าง โดยเฉพาะการทุ่นเวลาในการเดินทาง แต่ใครที่มีรถยนต์ก็ย่อมรู้ว่า มันนำภาระและความไม่สะดวกสบายมาให้แก่เจ้าของหลายอย่าง

ไหนจะต้องดูแลรักษาและเช็ดล้างเป็นอาจิณ ไหนจะต้องวุ่นวายกับการหาที่จอดรถ ไหนจะต้องมีภาระการเงินเพิ่มขึ้น และไหนจะต้องคอยป้องกันไม่ให้ใครมาทำอะไรมัน (เช่น ขูดสี หรือลักขโมย) รวมเงินทองและความสุขสบายที่หดหายไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มกับเวลาที่ประหยัดไปหรือไม่

และถ้าคิดกันจริงๆ แล้ว ก็น่าสงสัยว่า รถยนต์ช่วยทุ่นเวลาหรือทำให้เราเสียมากขึ้นกันแน่ เพราะทุกวันนี้เราเสียเวลาเพราะรถของเรามากมายหลายทาง นอกจากจะเสียเวลาในการเช็ดล้างและดูแลรักษา การซ่อมแซม การหาที่จอดรถ เรายังเสียเวลาเพื่อหาเงินมาเป็นค่าน้ำมัน ค่าอะไหล่ ค่าประกัน ค่าจอดรถ รวมทั้งค่าผ่อนส่ง หรือค่าออกรถ

ในสหรัฐอเมริกา เคยมีการคำนวณพบว่าคนอเมริกันเสียเวลาไปกับรถยนต์วันละ 32 กิโลเมตร นั่นหมายความว่ารถยนต์ช่วยให้คนอเมริกันเดินทางด้วยความเร็วเพียง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ช้ากว่าการขี่จักรยานด้วยซ้ำ

นี่ว่าเฉพาะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ในชีวิตเรายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมายนับไม่ถ้วน น่าคิดว่าสิ่งที่เราต้องสูญเสียไป เพราะความสะดวกทั้งหลายเหล่านี้รวมกันแล้วจะมีมากมายสักเพียงใด แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 2 อย่างที่ได้รับผลกระทบนั่นคือ
 เวลาและความสุข 





เคยสงสัยไหมว่า ในสังคมที่เจริญมั่งคั่ง เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ผู้คนกลับมีเวลาว่างน้อยกว่าชาวบ้านในชนบทที่แทบไม่มีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลาเลย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มหลังต้องเดินด้วยเท้า ทำนาด้วยแรงของตน จะกินน้ำก็ต้องไปหาบ กว่าจะได้กินข้าวก็ต้องรอเป็นชั่วโมง แต่เขากลับมีเวลาให้กับครอบครัวอย่างเหลือเฟือ สามารถนอนเอกเขนกได้เป็นวัน ในขณะที่คนในเมืองไม่มีเวลาแม้กระทั่งกินข้าวพร้อมหน้ากันทั้งบ้าน แถมยังนอนไม่เต็มอิ่ม ถามว่าเวลาของเขาไปไหนหมด ?

ส่วนหนึ่งก็เพราะ เสียเวลาไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ไม่ว่ารถยนต์ โทรทัศน์ วีดิโอ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ไหนจะเสียเวลากับการเสพสิ่งเหล่านั้น และไหนจะเสียเวลาหาเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านั้นมาเสพ


ในทำนองเดียวกัน เมื่อชีวิตยุ่งเหยิงวุ่นวายจนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเองแล้ว ความสุขจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีแต่จะลดลง


ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้ชีวิตมีความสุขเพิ่มขึ้นตามปริมาณสิ่งเสพแล้ว คนร่ำรวยมีชีวิตที่หรูหราอู้ฟู่ ก็ย่อมมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า คนรวยมีสิทธิเป็นโรคประสาทหรือฆ่าตัวตายไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไป ยิ่งเอาสถิติของประเทศร่ำรวยมาเทียบกับของประเทศยากจนก็จะเห็นว่า คนรวยเป็นโรคประสาทหรือฆ่าตัวตายมากกว่าคนจน


สิ่งอำนวยความสะดวกช่วยให้ชีวิตมีความสุขในระดับหนึ่งเท่านั้น นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่คนพอมีพอกิน มีความสุขมากกว่าคนที่หาเช้ากินค่ำ แต่ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินขีดหนึ่งไปแล้ว ความสุขมีแนวโน้มจะลดลง เพราะต้องคอยห่วงกังวลกับการดูแลรักษามัน

ถ้าคุณมีเครื่องเสียงราคานับล้านๆ ถึงมันจะบรรเลงเพลงได้ไพเราะเสนาะโสดเพียงใด ความสุขของคุณจะหายไปโดยพลัน หากมีเด็กปราดเข้ามาหามันอย่างไม่ประสีประสา มันให้ความสะดวกสบายแก่เรา แต่มันก็เป็นภาระแก่เราด้วยในเวลาเดียวกัน

สิ่งอำนวยความสะดวกยังเรียกร้องต้องการความใส่ใจจากเราอีกหลายอย่าง นอกจากต้องคอยห่วงพะวงถึงมันแล้ว ยังต้องคอยคิดปรับแต่งมันให้ดีขึ้นวิเศษขึ้นไม่ได้หยุด เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เคยอยู่เฉย แต่จะหมั่นผลิตอุปกรณ์เสริม (หรือ Accessories) เพื่อล่อลูกค้าให้ซื้อไปต่อเติมเข้ากับอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วเสมอๆ หรือทดแทนส่วนประกอบเดิมที่ "ล้าสมัย"

ใครที่ซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องแล้วหยุดเพียงเท่านั้น แทบจะนับตัวได้ ส่วนใหญ่เมื่อมาแล้วก็ต้องหาเรื่องซื้ออะไรต่ออะไรไม่ได้หยุด อาทิ ลำโพง ไมโครโฟน สแกนเนอร์ และกล้องดิจิตอล มาประกอบ ไม่ต้องพูดถึงโปรแกรมหรือซีดี ที่มีให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ปลุกเร้าความต้องการของเราไม่ได้หยุด ทำให้เกิดความทุกข์ที่ต้องบำบัดด้วยการดิ้นรน แสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ได้มาแล้วก็ไม่เคยหยุดหรือพอใจเสียที

ความไม่รู้จักพอของนักเล่นคอมพิวเตอร์ ชวนให้นึกถึงนิทานจีนเรื่องตะเกียงงาช้าง เรื่องมีว่า

กษัตริย์พระองค์หนึ่ง เดิมเสวยพระกระยาหารด้วยตะเกียบไม้ แต่อยู่มาวันหนึ่งทรงอยากได้ตะเกียบงาช้าง เสนาบดีคัดค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล ครั้นได้ตะเกียบงาช้างแล้ว พระองค์ก็เริ่มไม่พอพระทัยเครื่องเคลือบดินเผา จึงให้หาถ้วยชามที่ทำจากนอแรดและหยกมาใช้แทน ต่อมาแทนที่จะเสวยถั่วและผักดังแต่ก่อน พระกระยาหารก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเลอรส เช่น ตีนหมีและลูกเสือดาว ไม่นานก็ทรงทิ้งฉลองพระองค์ที่ทำจากผ้าเนื้อหยาบ และให้รื้อวังที่สร้างอย่างสามัญ เปลี่ยนมาใช้ฉลองพระองค์ไหมอย่างดี และสร้างวังใหม่อย่างวิจิตรพิสดาร นับแต่นั้นก็ทรงหมกมุ่นอยู่ในความสำราญ ไม่ใส่ใจในราชกิจ ซ้ำยังทรงลุแก่อำนาจ ราษฎรเดือดร้อนอย่างยิ่ง จนในที่สุด ก็ลุกฮือและขับพระองค์ออกจากราชบัลลังก์
สิ่งอำนวยความสะดวกมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ ใครที่หลงไปกับมัน ก็ง่ายที่จะเป็นทุกข์เพราะมัน และคนที่จะหลงมันได้ง่ายที่สุด ก็คือ คนมีเงิน เพราะเงินเปิดโอกาสให้เราเข้าครอบครองมันได้ง่ายขึ้น


เพราะเหตุนี้ คนร่ำรวยจึงมีโอกาสที่จะทุกข์ได้มาก เคยมีการสอบถามความเห็นของคนอเมริกันที่ถูกล็อตเตอรี่จำนวน 1,000 คนในรอบ 10 ปี ปรากฏว่ามีน้อยคนที่บอกว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินรางวัล ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความสุขน้อยลงหลังจากได้เงินรางวัลไปแล้ว 6 เดือน ทั้งๆ ที่มีเงินทองและสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เศรษฐีใหม่ที่ร่ำรวยอย่างรวดเร็วจากราคาหุ้นประเภทไฮเทคที่พุ่งพรวดในสหรัฐอเมริกา มักจะมีปัญหาทางจิตใจคล้ายๆ กัน คือ รู้สึกวิตกกังวลอย่างมากว่าเงินมากมายมหาศาลของตนนั้น จะหายวับไปอย่างรวดเร็วพอๆ กับตอนที่ได้มา

ทั้งยังรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างมากขึ้น เพราะมีช่องว่างกับเพื่อนเก่า จนมีปัญหาแม้แต่เวลาจะพูดเรื่องพื้นๆ เช่น รถยนต์ การซ่อมบ้าน นอกจากนั้นสถานภาพที่เปลี่ยนไป ยังทำให้มีเรื่องต้องครุ่นคิดตัดสินใจมากขึ้น แม้แต่จะซื้อของขวัญให้ใคร ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

หลายคนยอมรับว่า ตนมีความสุขมากกว่าตอนที่มีเงินน้อยกว่านี้ ความทุกข์ใจที่เกิดกับเศรษฐีพันล้านนี้ บางคนเรียกว่า "โรครวยฉับพลัน"







สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงแต่จะก่อปัญหาแก่บุคคลเท่านั้น หากยังสามารถสร้างภาระแก่สังคมได้มาก กล่องโฟมเป็นตัวอย่างง่ายๆ มันช่วยให้เราพกพาอาหารได้สะดวกขึ้น แต่ก็สร้างปัญหาในการกำจัดขยะ แถมยังเป็นอันตรายต่อบรรยากาศโลก และส่งผลถึงสุขภาพของเราในที่สุด


ลองพิจารณาดูจะพบว่า มีปัญหามากมายในสังคมที่เกิดขึ้นเพราะการคำนึงถึงแต่ความสะดวกสบาย ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูอย่างการแก้ปัญหาจราจร วิธีที่นิยมใช้กันทุกวันนี้ก็คือ การสร้างถนน หรือขยายผิวถนนเพิ่มขึ้น แน่ล่ะวิธีนี้ทำให้เราสะดวกสบายกว่าการแก้ปัญหาโดยวิธีควบคุมปริมาณรถยนต์ หรือการกดดันให้ผู้คนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนกันมากๆ แต่ในขณะที่เราเดินทางได้สะดวกสบาย เพราะการสร้างถนน เราก็สูญเสียความสะดวกสบายอีกหลายอย่าง อาทิ ความสบายในการหายใจอากาศที่บริสุทธิ์ หรือความสะดวกในการเดินทางด้วยจักรยาน หรือด้วยการเดินเท้า


ทั้งนี้เพราะยิ่งสร้างถนน คนก็ยิ่งใช้รถกันมากขึ้น ขณะเดียวกันการระดมสร้างถนนยังทำให้เกิดความไม่สะดวกอีกหลายอย่าง เช่น ลำคลองเน่าเหม็น ทั้งนี้เพราะเมื่อคลองถูกถมเป็นถนนจนแทบไม่เหลือ ย่อมเกิดปัญหาการระบายน้ำเสีย และเป็นเพราะการถมคลองนี้เอง ในที่สุดก็ทำให้น้ำท่วมได้ง่าย ฝนตกทีน้ำก็ท่วมถนนจนจราจรแน่นขนัด


กลายเป็นว่าความสะดวกสบายในการเดินทางไปๆ มาๆ ก็หดหายไปเพราะการสร้างถนนอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการสูญเสีย เสรีภาพในการสัญจรด้วยเรือ และการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอย่างมหาศาล เพราะการนำเข้ารถยนต์และน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา

และบางอย่างที่เราสูญเสียนั้น อาจมีคุณค่าหรือมี "ราคา" แพงกว่าความสะดวกสบายที่เราได้รับด้วยซ้ำ เช่น ความสงบสุขในชีวิต หรือเวลาที่จะให้แก่ตนเองและครอบครัว ความราบรื่นในสังคม รวมไปถึงความบริสุทธิ์สะอาดของสิ่งแวดล้อม


เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะอ้าแขนรับความสะดวกสบายอะไรสักอย่าง ควรไต่ตรองให้ถี่ถ้วนว่า มีอะไรบ้างที่เราจะต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับความสะดวกสบายดังกล่าว 


ที่มา. 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=trees&month=08-2011&group=8&date=23&gblog=77
ภาพจาก. อินเทอร์เนต

ไม่มีความคิดเห็น: