วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** เรียนรู้วิธีหาความสุข จากละครเรื่อง "เมียแต่ง"


ละครเรื่อง "เมียแต่ง" นั้นให้ข้อคิดได้หลายอย่างเลยค่ะ อย่างเช่นตัวของ "ปรุงฉัตร" เอง
ที่ตลอดเรื่องวิ่งหาแต่ความรัก ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเอาชนะคน คิดว่าได้มาแล้วจะมีความสุข
ความสุขที่วิ่งไล่ไขว่คว้า เช่นนี้เป็นความสุขที่แท้จริงหรือ?
สุดท้ายก็ต้องสูญเสียทุกอย่างไป โดยที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะแก้ตัวกับคนที่ "รักเรา" และ "คนที่เรารัก"
"ความทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็นเลือกเอานะว่าชีวิตที่เหลือ
เราอยากเป็นทุกข์หรือว่าเป็นสุข"






ขอบคุณ: youtube.com

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** รู้ทันเจ้าตัวร้าย โดย......พระไพศาล วิสาโล



ที่มา.  เฟสบุ๊ค  คุณ ดวงใจ ในเรือนธรรม 
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


"เราคุ้นกับกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะได้ยินบ่อย ที่จริงยังมีกิเลสอีกชุดหนึ่ง ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่กิเลสชุดนี้คนไทยรู้จักน้อยกว่า โดยเฉพาะคำว่ามานะ มานะแปลว่าความถือตัว ความสำคัญตัวว่าสูง หรือความอยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ส่วนตัณหาคือความอยากมีอยากได้ เช่น อยากรวย แต่ถ้าอยากใหญ่ อยากดัง อยากเด่น หรือสำคัญว่าฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า อันนี้เราเรียกว่ามานะ ส่วนทิฐิหมายถึงความยึดติดถือมั่นในความคิด เราคงเคยได้ยินคำว่า “ตัวกูของกู” ความยึดติดว่า “ของกู” หรืออยากได้มาเป็น “ของกู” นี้คือตัณหา ส่วนความยึดติดว่ามี “ตัวกู” หรือหลงยึดมั่นว่า กายและใจนี้คือ “ตัวกู” อันนี้คือทิฏฐิ ถ้าพูดให้เต็มก็คือ สักกายทิฏฐิ กิเลส ๓ ตัว คือ ตัวกู ของกู และนี่กูนะ หรือ ทิฏฐิ ตัณหา และมานะ บางทีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย
การแสดงออกของมานะ
มานะนั้นแสดงอาการได้หลายอย่าง อย่างหยาบๆ ก็คือ เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว ดูถูกคนอื่น รวมทั้ง อวดเก่ง อวดเบ่ง อวดดี อวดฉลาด ขี้โม้ อวดรวย อวดสวย อวดหล่อ อาการอวดเหล่านี้ใช่มานะทั้งนั้น
มานะยังแสดงอาการอย่างอื่นได้อีกเช่น ความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันวิเศษ จนถึงขั้นหลงตัวลืมตน ที่จริงความภาคภูมิใจก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าไร้ค่า แต่มันก็ยังเป็นกิเสลอยู่นั่นเอง นอกจากนี้มานะยังทำให้เราไม่อยากฟังคำแนะนำจากใคร ไม่ชอบเวลามีใครตักเตือนหรือวิจารณ์ อาการแบบนี้ใกล้เคียงกับกิเลสที่ชื่อทิฏฐิ ทิฏฐิคือความใจแคบ ความยึดมั่นว่าความคิดของฉันนั้นถูก ความคิดของฉันนั้นดี ดังนั้นคนไทยจึงมักเรียก ทิฏฐิมานะ คู่กัน ก็เพราะว่าทั้งทิฏฐิและมานะ ทำให้เราดื้อดึง ไม่ฟังใคร อย่างไรก็ตาม ทิฏฐิกับมานะต่างกัน ตรงที่ทิฏฐิเป็นความยึดมั่นในความเชื่อของตน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ส่วนมานะนั้นเป็นความยึดมั่นในอัตตาตัวตน คือยึดมั่นว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันถูก ก็เลยไม่ยอมฟังคำวิจารณ์"

** ชีวิตคล้ายโทรทัศน์ช่องหนึ่ง


ที่มา. หนังสือ  เข้าใจชีวิตด้วยความคิดอย่างเซน โดย. บุญก่าย  ฉิมกูล
ภาพจาก. อินเทอร์เนต




** ชีวิตคล้ายโทรทัศน์ช่องหนึ่ง **
มนุษย์คนหนึ่งคล้ายกับโทรทัศน์เครื่องหนึ่ง
ซึ่งมีช่องล้านช่อง
ถ้าเราเปิดไปสู่ช่องของพุทธะ  เราก็เป็นพุทธะ
ถ้าเราเปิดสู่ช่องเศร้า  เราก็โศกเศร้า
ถ้าเราเปิดสู่ช่องยิ้ม  เราก็ยิ้มได้จริงๆ

ที่มา. หนังสือ  เข้าใจชีวิตด้วยความคิดอย่างเซน โดย. บุญก่าย  ฉิมกูล
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** ความจนเป็นทุกข์ในโลก


(ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๓๙๒)
เฟสบุ๊ค "เพียงพบพาน  เพื่อผ่านภพ
ภาพจาก.  อินเทอร์เนต



ღ ความจนเป็นทุกข์ในโลก ღ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจน
เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"
จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทังหลาย
คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้.
แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

"คนจนกู้หนี้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย.
แม้การเสียดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."
"คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด
ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวง ก็เป็นทุกข์
ในโลกของผู้บริโภคกาม."
"คนจนถูกทวง ไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว
แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."
"คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ
แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี, การกู้หนี้ก็ดี,
การเสียดอกเบี้ยก็ดี, การถูกทวงก็ดี, การถูกตามตัวก็ดี,
การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม
ด้วยประการฉะนี้.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปไมยก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา(ความเชื่อ) ในกุศลธรรม
ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม
ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม
บุคคลนี้ เรียกว่าเป็นคนจน ไม่มีทรัพย์ของตนเอง
ไม่มั่งคั่งในวินัยของพระอริยเจ้า."

"คนจน (ทางธรรม) นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม
ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม
ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม
ย่อมประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ การประพฤติทุจจริต
ทางกาย วาจา ใจ นี้ เรากล่าวว่า เป็นการกู้หนี้ของผู้นั้น."

"คนจน (ทางธรรม) นั้น เพราะเหตุที่จะปกปิดทุจจริต
ทางกาย วาจา ใจนั้น จึงตั้งความปรารถนาลามก ปรารถนาว่า ดำริว่า
คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายาม
ทางกาย ด้วยคิดว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย.
ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการเสียดอกเบี้ยของผู้นั้น."

"เพื่อนพรหมจารี (ร่วมประพฤติพรหมจรรย์) ผู้มีศีลเป็นที่รัก
ย่อมกล่าวถึงผู้นั้นว่า มีการกระทำอย่างนี้ มีความประพฤติอย่างนี้.
ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการถูกทวงของผู้นั้น."

"ความคิดที่เป็นอกุศล (กุศลวิตก) อันลามก อันประกอบ
ด้วยความเดือดร้อน ย่อมติดตามผู้นั้น ผู้ไปสู่ป่าก็ตาม
สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างก็ตาม. ข้อนี้ เรากล่าวว่า
เป็นการถูกตามตัวของผู้นั้น."

"คนจน (ทางธรรม) นั้น ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ แล้ว
ภายหลังที่สิ้นชีวิตไป ย่อมถูกจองจำ ด้วยการจองจำในนรกบ้าง
ด้วยการจองจำในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานบ้าง."

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นการถูกจองจำอย่างอื่น
สักอย่างเดียว ที่ทารุณ ที่นำทุกข์มาให้ ที่ทำอันตราย
แก่การบรรลุธรรมะอันปลอดโปร่งจากิเลส
อันเป็นธรรมยอดเยี่ยม เหมือนการถูกจองจำในนรก
หรือในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย."

(ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๓๙๒)


** ตระหนักรู้


ที่มา.  หนังสือ “ความสุขยิ้มได้”  โดย. ชุติปัญโญ
ภาพจาก. อินเทอร์เนต



** ตระหนักรู้ **

เมื่อเรารู้จักตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต
บนรากฐานของความไม่ประมาท
โดยมีความตายอันเป็นจุดจบ
มาเป็นครูสอนการเริ่มต้นของชีวิตแล้ว
เราจะรู้จักมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณ
และปฏิบัติต่อสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน
เมื่อนั้นความตายจึงชื่อว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งการเรียนรู้ชีวิต
อย่างทรงคุณค่าอย่างแท้จริง

ที่มา.  หนังสือ “ความสุขยิ้มได้”  โดย. ชุติปัญโญ
ภาพจาก. อินเทอร์เนต



วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** ‎"เบื่อหน่ายสังคม จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร"



ที่่มา....เฟสบุ๊ค  "พระไพศาล  วิสาโล"  https://www.facebook.com/visalo

อันที่จริงความเบื่อหน่ายก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่หมกมุ่นในอะไรบางอย่างมากเกินไป หากที่ผ่านมาคุณจดจ่อใส่ใจกับเรื่องสังคมเอามาก ๆ ความรู้สึกเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นกับคุณวันนี้ก็ช่วยให้คุณไม่เสียเวลากับเรื่องนั้นมากเกินไป มีเวลาให้กับเรื่องอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจจะสำคัญต่อตัวคุณมากกว่าก็ได้

ความเบื่อหน่ายมักเกิดขึ้นจากความไม่สมหวังที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปดั่งใจ ก็เลยหมดความกระตือรือร้น แต่ถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นธรรมดาที่สิ่งต่าง ๆ จะผันผวนแปรปรวน มีขึ้นมีลง เพราะมีเหตุปัจจัย ไม่อาจเป็นไปตามใจของใครได้ และไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของใคร ความเบื่อหน่ายก็จะหายไป มีความรู้สึกปกติ เป็นกลางมาแทนที่

ถ้าคุณเบื่อหน่ายสังคมรอบตัว ก็ลองเบนความสนใจของตัวไปยังสิ่งอื่นชั่วคราว หรือจำกัดความสนใจให้แคบลง มาเน้นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของคุณ เช่น การทำงานหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว ทุ่มเทความใส่ใจให้กับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ อย่าเจ่าจุกแล้วเอาแต่เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบตัว ควรใช้ชีวิตด้วยความกระฉับกระเฉง รวมทั้งตื่นและนอนเป็นเวลา และออกกำลังกายเป็นประจำด้วย แม้จะฝืนใจอยู่บ้างก็ควรทำ หาไม่แล้วชีวิตจิตใจจะเปลี่ยนจากเบื่อหน่ายกลายเป็นซึมเซาและไร้ชีวิตชีวา หากจะมีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนหรือสังคมนั้น ก็อย่าปฏิเสธหรือผลักไส อดกลั้นต่ออารมณ์ ขณะเดียวกันก็พยายามมองจากมุมของคนอื่นด้วย บางทีคุณจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น ความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้คุณเบื่อหน่ายหรือระอาผู้คนน้อยลง

แต่ถ้าคุณเบื่อหน่ายสังคมแบบสุด ๆ ทำอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น ก็น่าจะปลีกตัวไปปฏิบัติธรรมหรือหลีกเร้นไปอยู่ป่าสักระยะหนึ่ง น่าจะดีขึ้น ในที่สุดคุณอาจจะพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่สังคมหรือผู้คนรอบตัว แต่อยู่ที่ใจของคุณเอง หากไม่แก้ตรงนี้ ต่อไปแทนที่จะเบื่อหน่ายสังคม ก็กลายเป็นเบื่อหน่ายตัวเอง


ที่่มา....เฟสบุ๊ค  "พระไพศาล  วิสาโล"  https://www.facebook.com/visalo
ภาพจาก. อินเทอร์เนต

** การขาดสติ...



“ถ้าขาดสติ  โอกาสที่จิตใจจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอกมันก็มีมากขึ้น
และอารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิต  ให้หลงใหลมัวเมาได้ง่ายขึ้น”

หลวงปู่กินรี  จนฺทิโย  วัดกันตศิลาวาส
ที่มา. หนังสือ “ให้ธรรมะวันละนิด เติมข้อคิดวันละคำ”
โดย. ปัญญา ศีณี  เรียบเรียง
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


** ยิ่งเดินจะยิ่งไม่ถึง (หยุดเดินนั้นแหละจึงจะถึง)




ความหมายในภาษาคน : หมายถึง  เป็นธรรมะชั้นสูงคนธรรมดาฟังแล้วไม่เข้าใจ

ความหมายในภาษาธรรม : หมาถึง  ความสงบ  หรือนิพพาน  ยิ่งเดิน  ยิ่งไม่ถึง  คือ  ไม่ถึงความสงบ  ไม่ถึงนิพพาน  นิพพานจะถึงได้  เพราะไม่ต้องการ  เพราะไม่อยาก  เพราะไม่หวัง  เพราะไม่ปรารถนา  มันจึงไม่ต้องเดิน  ไม่เดินมันจึงถึงนิพพาน  ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง  ยิ่งเอายิ่งไม่ได้  ยิ่งเอายิ่งมีตัณหา  อยากเอานั่นเอานี่  เป็นนั่นเป็นนี่  มันก็ยิ่งไม่ได้  พอหยุดเอาเสียเท่านั้น  มันก็ได้เต็มที่ขึ้นมา

ท่านพุทธทาส  ภิกขุ
ที่มา. หนังสือ “ตามรอยพุทธทาส”  โดย. นพ นันทวัน
ภาพจาก. อินเทอร์เนต



** ชีวิตเรา มีขึ้น และ มีลง



  ชีวิตเราทุกคน  มีขึ้น มีลง  เป็นจังหวะชีวิต  ช่วงขาขึ้น  ก็ดีใจพอประมาณ  ช่วงขาลง  ก็อย่าเศร้าจนทำอะไรไม่ถูก เมื่อมีขึ้น ก็ต้องมีลง  เป็นธรรมดา ขึ้นๆ ลงๆ วนเวียนอยู่เช่นนี้เอง....

ที่มา.  หนังสือ  ธรรมะเย็นฉ่ำ
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องในปัจจุบัน



“ไม่ต้องอาลัยอดีต  ไม่ต้องพะวงอนาคต  ขอแต่ให้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องในปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว  ที่จะไม่เป็นทุกข์ และไม่เป็นปัจจัยแก่สัสตทิฐิ คือ ตัวตนที่เวียนว่ายไปในวัฏฏะ”

ที่มา. ท่านพุทธทาส ภิกขุ
        จากหนังสือ “ธรรมะ จุดประกายเพื่อความรู้เท่าทันชีวิต” โดย. ปัณณวัฒน์
        ภาพจาก. อินเทอร์เนต


** เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา



“ในคราวใดที่เรามีความสุขสมหวัง
ให้เราคิดถึงความผิดหวังเอาไว้บ้าง
แต่หากวันใดที่เรามีความผิดหวัง
จึงตั้งใจไว้เถิดว่าทุกอย่าง
ล้วนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา”

ที่มา. หนังสือ “ธรรมะก่อนนอน ๕ นาที”
โดย. พระอาจารย์วิเชียร  วชิรปัญโญ
ภาพจาก. อินเทอร์เนต


วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

** มิตรภาพ



มิตรภาพ

มิตรภาพที่แท้อยู่บนพื้นฐานของความรักความเอ็นดู
โดยไม่เกี่ยวในตำแหน่งของท่าน ดังนั้น หากท่านยิ่งเป็นห่วง
เป็นใยในความเป็นอยู่และสิทธิของผู้อื่น
ท่านก็จะเป็นมิตรแท้มากขึ้นเท่านั้น
หากท่านเปิดเผยและจริงใจ ในท้ายที่สุด
ท่านก็จะได้รับผลดีกับตัวท่าน
หากท่านหลงลืมหรือไม่ใส่ใจคนอื่
ในท้ายที่สุด ท่านก็จะสูญเสียประโยชน์ของตัวท่านเอง

Genuine human friendship is on the basis of human affection, irrespective of your position. Therefore, the more you show concern about the welfare and rights of others, the more you are a genuine friend. The more you remain
open and sincere, then ultimately more benefits will come to you. If you forget or do not bother about others, then eventually you will lose your own benefit.

ทะไลลามะที่ 14
‎~ อย่าทำรอยยิ้มหล่นหายไป ~ ..เบ็ดเตล็ด ความรู้ และ กำลังใจ..


** ธรรมะอัศจรรย์ โดย. ท่านสุพันธ์ แก้วมงคล




คัดลอกมาจาก  เฟสบุ๊ค  "ท่านสุพันธ์  แก้วมงคล"



** ชีวิต.. ไม่ใช่เรื่องแค่...มีอะไรที่เกิดขึ้นมา...แต่เป็นเรื่องที่ว่า " จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไร....?


** เมื่อรู้ว่าอนิจจัง...ย่อมไม่ประมาทในชีวิต...การรู้จักชีวิต จึงควรรู้จักใช้ชีวิตด้วย สาธุ

** การปล่อยวาง...คือ ภาระสุดท้าย...และเป็นหน้าที่ของจิตใจ...ที่ไม่ต้องแบกความทุกข์ ความกังวล 

ต่างๆ ไว้กับชีวิต...

** หากความสุข ความทุกข์ความสมหวัง ความผิดหวังความรัก ความเกลียดชังความยากดี มีจน เคยเกิด

ขึ้นแล้ว...เรายังจะต้องการรู้อะไรอีก ชีวิต ก็คงมีเพียงเท่านี้เเหละ...จึงไม่ควรหลง...

**เมื่อเราอยู่ในโลก...ได้เรียนรู้ชีวิต และสิ่งทั้งหลาย


ชื่อว่า ได้เรียนรู้ธรรมะ ขึ้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกั


ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ล้วนเกี่ยวข้องกัน ทั้งหมด
จึงขอตัวพักผ่อน เมื่อจิตใจและร่างกายพร้อม
เราก็จะนอนหลับสบาย...

และพร้อมที่จะตื่นในยามเช้า...

มาพับกับบุคคลทั้งหลายในโลก...
ด้วยพลังกาย พลังใจ ที่กล้าแกร่ง แช่มชื่น เบิกบาน ด้วยธรรม...สาธุ

** 
พระพุทธศาสนา อธิบายได้ทุกแง่มุม...พระพุทธองค์จึงทรงให้แยกแยะระหว่างภาษาโลก กับภาษาธรรมผู้

เข้าใจภาษา จึงควรเข้าใจเจตนาในการสื่อสารระหว่างหลักศีลธรรมขึ้นพื้นฐาน กับหลักปรมัตถธรรมอัน

สูงสุด  สาธุ


ที่มา. http://on.fb.me/npx3U9  (เฟสบุ๊ค ท่านสุพันธ์  แก้วมงคล)

** ราคาของความสะดวกสบาย






เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล จากหนังสือ เส้นโค้งแห่งความสุข – สดับทุกข์ยุคบริโภคนิยม

 จัดพิมพ์โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำมาจาก เว็บ khonnaruk.com



มีนิทานเล่าว่า ชายหนุ่มผู้หนึ่งมาฝึกบำเพ็ญตบะกับอาจารย์ หลังจากฝึกมาได้หลายปี อาจารย์เห็นว่าศิษย์มีความสามารถแก่กล้าแล้ว จึงอนุญาตให้ไปบำเพ็ญพรตแต่ผู้เดียวในอีกแคว้นหนึ่ง


หนุ่มผู้นั้นมาปลูกกระท่อมนอกหมู่บ้าน แล้ววันหนึ่งก็พบว่าเสื้อของตนซึ่งมีอยู่เพียงตัวเดียว มีรอยหนูกัด พอปะชุนแล้ว วันต่อมาหนูก็ยังมากัดอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาคิดหาทางแก้อยู่หลายวัน ในที่สุดก็ไปหาแมวมาปราบหนู แต่เมื่อได้แมวมา เขาก็ต้องไปหานมมาเลี้ยงแมวด้วย หลังจากไปขอนมวัวจากชาวบ้านอยู่เดือนหนึ่ง ก็คิดว่าแทนที่จะเดินไปขอนมในหมู่บ้าน สู้หาวัวมาเลี้ยงดีกว่า


ครั้งหาวัวมาเลี้ยงแล้ว ก็ต้องหาหญ้าให้มันด้วย เนื่องจากไม่ต้องการเสียเวลาบำเพ็ญพรต เขาก็เลยไปจ้างลูกสาวชาวบ้านมาเกี่ยวหญ้าให้วัว ผ่านไปหลายเดือนเงินที่ขอทานจากชาวบ้านก็ร่อยหรอไปเกือบหมด ก็เลยหาทางออกด้วยการแต่งงานกับสาวเสียเลย จะได้ไม่ต้องเสียเงินจ้าง


เมื่อมีสาวมาอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยกันทำมาหากิน ในที่สุดก็เลยเลิกบำเพ็ญพรต กลายมาเป็นพ่อค้า หากินจนร่ำรวย แล้ววันหนึ่งอาจารย์ก็มาเยี่ยม พอเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อาจารย์ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ชายผู้นั้นอธิบายว่า "นี่เป็นวิธีที่ผมจะรักษาเสื้อของผมน่ะครับ"






นิทานเรื่องนี้สอนอะไร ?






แน่นอนนิทานเรื่องนี้ไม่ได้สอนว่า อย่าริมีเสื้อ หรืออย่ารักษาเสื้อ แก่นของเรื่องน่าจะอยู่ตรงที่ วิธีการรักษาเสื้อ มากกว่า


การรักษาเสื้อนั้นมีหลายวิธี แต่ตัวเอกในเรื่องรักษาเสื้อด้วยการหา "เครื่องทุ่นแรง" หรือวิธีที่ทำให้เหนื่อยน้อยที่สุด เช่น หาแมวมาจัดการกับหนู แทนที่จะทำตู้ใส่เสื้อ หรือทำกับดักหนู แต่ปรากฏว่าวิธีดังกล่าวแม้จะแก้ปัญหาหนึ่งได้ กลับสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน และเมื่อแก้ด้วยวิธีที่คิดว่าสะดวกสบายที่สุด ก็มีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

จนในที่สุดชีวิตก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อนจากจุดหมายเดิมจนผันแปรไป กลายเป็นว่าแทนที่เสื้อจะช่วยรับใช้ชีวิตนักพรต กลับต้องละทิ้งชีวิตนักพรตเพื่อรับใช้เสื้อ


นิทานเรื่องนี้ ไม่ได้มุ่งเตือนสตินักบวชเท่านั้น หากยังเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนทั่วไปด้วย เพราะถ้ามองให้ลึกแล้วนิทานเรื่องนี้สอนว่า ความสะดวกสบายนั้นไม่ได้มาเปล่าๆ เมื่อได้ความสะดวกสบายในเรื่องหนึ่ง ก็ต้องเกิดความไม่สะดวกสบายในอีกเรื่องหนึ่งพ่วงติดมา 

ถึงไม่ต้องวุ่นวายกับหนู แต่ก็ต้องวุ่นวานกับแมวแทน แม้ไม่ต้องเหนื่อยเพราะเดินไปขอนม แต่ก็ต้องเหนื่อยกับการเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงวัวแทน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสะดวกสบายนั้นมักมาพร้อมกับภาระเสมอ

จะพูดว่าไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ก็ได้ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า no free lunch น่าแปลกก็ตรงที่ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็พอจะรู้ว่าในชีวิตนี้ไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ แต่พอมาถึงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย คนจำนวนไม่น้อยกลับคิดว่า เรามีแต่จะได้อย่างเดียว ไม่มีเสียเลย "เสีย" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเสียเงินเพื่อซื้อมันมาเท่านั้น แต่เรายังต้องเสียอย่างอื่นอีกด้วย เช่น เสียวลา เสียความสุข เพราะต้องคอยพะวงถึงมัน เป็นต้น

ตัวอย่างชัดเจนก็คือ รถยนต์ เราได้รับความสะดวกสบายจากรถยนต์หลายอย่าง โดยเฉพาะการทุ่นเวลาในการเดินทาง แต่ใครที่มีรถยนต์ก็ย่อมรู้ว่า มันนำภาระและความไม่สะดวกสบายมาให้แก่เจ้าของหลายอย่าง

ไหนจะต้องดูแลรักษาและเช็ดล้างเป็นอาจิณ ไหนจะต้องวุ่นวายกับการหาที่จอดรถ ไหนจะต้องมีภาระการเงินเพิ่มขึ้น และไหนจะต้องคอยป้องกันไม่ให้ใครมาทำอะไรมัน (เช่น ขูดสี หรือลักขโมย) รวมเงินทองและความสุขสบายที่หดหายไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มกับเวลาที่ประหยัดไปหรือไม่

และถ้าคิดกันจริงๆ แล้ว ก็น่าสงสัยว่า รถยนต์ช่วยทุ่นเวลาหรือทำให้เราเสียมากขึ้นกันแน่ เพราะทุกวันนี้เราเสียเวลาเพราะรถของเรามากมายหลายทาง นอกจากจะเสียเวลาในการเช็ดล้างและดูแลรักษา การซ่อมแซม การหาที่จอดรถ เรายังเสียเวลาเพื่อหาเงินมาเป็นค่าน้ำมัน ค่าอะไหล่ ค่าประกัน ค่าจอดรถ รวมทั้งค่าผ่อนส่ง หรือค่าออกรถ

ในสหรัฐอเมริกา เคยมีการคำนวณพบว่าคนอเมริกันเสียเวลาไปกับรถยนต์วันละ 32 กิโลเมตร นั่นหมายความว่ารถยนต์ช่วยให้คนอเมริกันเดินทางด้วยความเร็วเพียง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ช้ากว่าการขี่จักรยานด้วยซ้ำ

นี่ว่าเฉพาะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ในชีวิตเรายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมายนับไม่ถ้วน น่าคิดว่าสิ่งที่เราต้องสูญเสียไป เพราะความสะดวกทั้งหลายเหล่านี้รวมกันแล้วจะมีมากมายสักเพียงใด แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 2 อย่างที่ได้รับผลกระทบนั่นคือ
 เวลาและความสุข 





เคยสงสัยไหมว่า ในสังคมที่เจริญมั่งคั่ง เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ผู้คนกลับมีเวลาว่างน้อยกว่าชาวบ้านในชนบทที่แทบไม่มีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลาเลย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มหลังต้องเดินด้วยเท้า ทำนาด้วยแรงของตน จะกินน้ำก็ต้องไปหาบ กว่าจะได้กินข้าวก็ต้องรอเป็นชั่วโมง แต่เขากลับมีเวลาให้กับครอบครัวอย่างเหลือเฟือ สามารถนอนเอกเขนกได้เป็นวัน ในขณะที่คนในเมืองไม่มีเวลาแม้กระทั่งกินข้าวพร้อมหน้ากันทั้งบ้าน แถมยังนอนไม่เต็มอิ่ม ถามว่าเวลาของเขาไปไหนหมด ?

ส่วนหนึ่งก็เพราะ เสียเวลาไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ไม่ว่ารถยนต์ โทรทัศน์ วีดิโอ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ไหนจะเสียเวลากับการเสพสิ่งเหล่านั้น และไหนจะเสียเวลาหาเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านั้นมาเสพ


ในทำนองเดียวกัน เมื่อชีวิตยุ่งเหยิงวุ่นวายจนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเองแล้ว ความสุขจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีแต่จะลดลง


ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้ชีวิตมีความสุขเพิ่มขึ้นตามปริมาณสิ่งเสพแล้ว คนร่ำรวยมีชีวิตที่หรูหราอู้ฟู่ ก็ย่อมมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า คนรวยมีสิทธิเป็นโรคประสาทหรือฆ่าตัวตายไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไป ยิ่งเอาสถิติของประเทศร่ำรวยมาเทียบกับของประเทศยากจนก็จะเห็นว่า คนรวยเป็นโรคประสาทหรือฆ่าตัวตายมากกว่าคนจน


สิ่งอำนวยความสะดวกช่วยให้ชีวิตมีความสุขในระดับหนึ่งเท่านั้น นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่คนพอมีพอกิน มีความสุขมากกว่าคนที่หาเช้ากินค่ำ แต่ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินขีดหนึ่งไปแล้ว ความสุขมีแนวโน้มจะลดลง เพราะต้องคอยห่วงกังวลกับการดูแลรักษามัน

ถ้าคุณมีเครื่องเสียงราคานับล้านๆ ถึงมันจะบรรเลงเพลงได้ไพเราะเสนาะโสดเพียงใด ความสุขของคุณจะหายไปโดยพลัน หากมีเด็กปราดเข้ามาหามันอย่างไม่ประสีประสา มันให้ความสะดวกสบายแก่เรา แต่มันก็เป็นภาระแก่เราด้วยในเวลาเดียวกัน

สิ่งอำนวยความสะดวกยังเรียกร้องต้องการความใส่ใจจากเราอีกหลายอย่าง นอกจากต้องคอยห่วงพะวงถึงมันแล้ว ยังต้องคอยคิดปรับแต่งมันให้ดีขึ้นวิเศษขึ้นไม่ได้หยุด เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เคยอยู่เฉย แต่จะหมั่นผลิตอุปกรณ์เสริม (หรือ Accessories) เพื่อล่อลูกค้าให้ซื้อไปต่อเติมเข้ากับอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วเสมอๆ หรือทดแทนส่วนประกอบเดิมที่ "ล้าสมัย"

ใครที่ซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องแล้วหยุดเพียงเท่านั้น แทบจะนับตัวได้ ส่วนใหญ่เมื่อมาแล้วก็ต้องหาเรื่องซื้ออะไรต่ออะไรไม่ได้หยุด อาทิ ลำโพง ไมโครโฟน สแกนเนอร์ และกล้องดิจิตอล มาประกอบ ไม่ต้องพูดถึงโปรแกรมหรือซีดี ที่มีให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ปลุกเร้าความต้องการของเราไม่ได้หยุด ทำให้เกิดความทุกข์ที่ต้องบำบัดด้วยการดิ้นรน แสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ได้มาแล้วก็ไม่เคยหยุดหรือพอใจเสียที

ความไม่รู้จักพอของนักเล่นคอมพิวเตอร์ ชวนให้นึกถึงนิทานจีนเรื่องตะเกียงงาช้าง เรื่องมีว่า

กษัตริย์พระองค์หนึ่ง เดิมเสวยพระกระยาหารด้วยตะเกียบไม้ แต่อยู่มาวันหนึ่งทรงอยากได้ตะเกียบงาช้าง เสนาบดีคัดค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล ครั้นได้ตะเกียบงาช้างแล้ว พระองค์ก็เริ่มไม่พอพระทัยเครื่องเคลือบดินเผา จึงให้หาถ้วยชามที่ทำจากนอแรดและหยกมาใช้แทน ต่อมาแทนที่จะเสวยถั่วและผักดังแต่ก่อน พระกระยาหารก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเลอรส เช่น ตีนหมีและลูกเสือดาว ไม่นานก็ทรงทิ้งฉลองพระองค์ที่ทำจากผ้าเนื้อหยาบ และให้รื้อวังที่สร้างอย่างสามัญ เปลี่ยนมาใช้ฉลองพระองค์ไหมอย่างดี และสร้างวังใหม่อย่างวิจิตรพิสดาร นับแต่นั้นก็ทรงหมกมุ่นอยู่ในความสำราญ ไม่ใส่ใจในราชกิจ ซ้ำยังทรงลุแก่อำนาจ ราษฎรเดือดร้อนอย่างยิ่ง จนในที่สุด ก็ลุกฮือและขับพระองค์ออกจากราชบัลลังก์
สิ่งอำนวยความสะดวกมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ ใครที่หลงไปกับมัน ก็ง่ายที่จะเป็นทุกข์เพราะมัน และคนที่จะหลงมันได้ง่ายที่สุด ก็คือ คนมีเงิน เพราะเงินเปิดโอกาสให้เราเข้าครอบครองมันได้ง่ายขึ้น


เพราะเหตุนี้ คนร่ำรวยจึงมีโอกาสที่จะทุกข์ได้มาก เคยมีการสอบถามความเห็นของคนอเมริกันที่ถูกล็อตเตอรี่จำนวน 1,000 คนในรอบ 10 ปี ปรากฏว่ามีน้อยคนที่บอกว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินรางวัล ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความสุขน้อยลงหลังจากได้เงินรางวัลไปแล้ว 6 เดือน ทั้งๆ ที่มีเงินทองและสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เศรษฐีใหม่ที่ร่ำรวยอย่างรวดเร็วจากราคาหุ้นประเภทไฮเทคที่พุ่งพรวดในสหรัฐอเมริกา มักจะมีปัญหาทางจิตใจคล้ายๆ กัน คือ รู้สึกวิตกกังวลอย่างมากว่าเงินมากมายมหาศาลของตนนั้น จะหายวับไปอย่างรวดเร็วพอๆ กับตอนที่ได้มา

ทั้งยังรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างมากขึ้น เพราะมีช่องว่างกับเพื่อนเก่า จนมีปัญหาแม้แต่เวลาจะพูดเรื่องพื้นๆ เช่น รถยนต์ การซ่อมบ้าน นอกจากนั้นสถานภาพที่เปลี่ยนไป ยังทำให้มีเรื่องต้องครุ่นคิดตัดสินใจมากขึ้น แม้แต่จะซื้อของขวัญให้ใคร ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

หลายคนยอมรับว่า ตนมีความสุขมากกว่าตอนที่มีเงินน้อยกว่านี้ ความทุกข์ใจที่เกิดกับเศรษฐีพันล้านนี้ บางคนเรียกว่า "โรครวยฉับพลัน"







สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงแต่จะก่อปัญหาแก่บุคคลเท่านั้น หากยังสามารถสร้างภาระแก่สังคมได้มาก กล่องโฟมเป็นตัวอย่างง่ายๆ มันช่วยให้เราพกพาอาหารได้สะดวกขึ้น แต่ก็สร้างปัญหาในการกำจัดขยะ แถมยังเป็นอันตรายต่อบรรยากาศโลก และส่งผลถึงสุขภาพของเราในที่สุด


ลองพิจารณาดูจะพบว่า มีปัญหามากมายในสังคมที่เกิดขึ้นเพราะการคำนึงถึงแต่ความสะดวกสบาย ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูอย่างการแก้ปัญหาจราจร วิธีที่นิยมใช้กันทุกวันนี้ก็คือ การสร้างถนน หรือขยายผิวถนนเพิ่มขึ้น แน่ล่ะวิธีนี้ทำให้เราสะดวกสบายกว่าการแก้ปัญหาโดยวิธีควบคุมปริมาณรถยนต์ หรือการกดดันให้ผู้คนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนกันมากๆ แต่ในขณะที่เราเดินทางได้สะดวกสบาย เพราะการสร้างถนน เราก็สูญเสียความสะดวกสบายอีกหลายอย่าง อาทิ ความสบายในการหายใจอากาศที่บริสุทธิ์ หรือความสะดวกในการเดินทางด้วยจักรยาน หรือด้วยการเดินเท้า


ทั้งนี้เพราะยิ่งสร้างถนน คนก็ยิ่งใช้รถกันมากขึ้น ขณะเดียวกันการระดมสร้างถนนยังทำให้เกิดความไม่สะดวกอีกหลายอย่าง เช่น ลำคลองเน่าเหม็น ทั้งนี้เพราะเมื่อคลองถูกถมเป็นถนนจนแทบไม่เหลือ ย่อมเกิดปัญหาการระบายน้ำเสีย และเป็นเพราะการถมคลองนี้เอง ในที่สุดก็ทำให้น้ำท่วมได้ง่าย ฝนตกทีน้ำก็ท่วมถนนจนจราจรแน่นขนัด


กลายเป็นว่าความสะดวกสบายในการเดินทางไปๆ มาๆ ก็หดหายไปเพราะการสร้างถนนอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการสูญเสีย เสรีภาพในการสัญจรด้วยเรือ และการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอย่างมหาศาล เพราะการนำเข้ารถยนต์และน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา

และบางอย่างที่เราสูญเสียนั้น อาจมีคุณค่าหรือมี "ราคา" แพงกว่าความสะดวกสบายที่เราได้รับด้วยซ้ำ เช่น ความสงบสุขในชีวิต หรือเวลาที่จะให้แก่ตนเองและครอบครัว ความราบรื่นในสังคม รวมไปถึงความบริสุทธิ์สะอาดของสิ่งแวดล้อม


เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะอ้าแขนรับความสะดวกสบายอะไรสักอย่าง ควรไต่ตรองให้ถี่ถ้วนว่า มีอะไรบ้างที่เราจะต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับความสะดวกสบายดังกล่าว 


ที่มา. 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=trees&month=08-2011&group=8&date=23&gblog=77
ภาพจาก. อินเทอร์เนต