วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ธรรมะจาก สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



หัวใจพระพุทธศาสนา

หัวใจพระพุทธศานา ๓ ประการ
ที่โปรดประทานไว้เป็นหลักประกาศพระพุทธศานา
คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม
และการชำระจิตของตนให้ผ่องใส
และ ธรรมะหมวดอื่นที่ทรงสอน เช่น
ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนา
ล้วนแสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งว่า..
พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณา
และพระปัญญาใหญ่ยิ่งจริงแท้
และทรงแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศานา.



พระพุทธองค์ผู้ยิ่งด้วยพระปัญญาคุณ

ทุกคนมีการกระทำ มีคำพูด
เป็นเครื่องแสดงออกของจิตใจ
ใจเป็นเช่นไร..
การกระทำและคำพูดจะเป็นเช่นนั้น
พระพุทธศานาเป็นการกระทำของพระพุทธเจ้า
จึงเป็นเครื่องแสดงพระพุทธหฤทัยอย่างชัดเจน
เป็นเครื่องรองรับพระพุทธประวัติว่าเป็นจริง
ดังแสดงเรื่องราวไว้ต่างๆ ที่ล้วนทรงยิ่งด้วยพระคุณ
ทั้งพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ.




พระผู้มีมหากรุณาคุณ

ในพระประวัติของพระพุทธเจ้า มีกล่าวแสดงไว้ว่า
เหตุเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์
ของคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงมีพระมหากรุณา
ปรารถนาจะช่วยมิให้มีผู้ต้องได้รับความทุกข์เช่นนั้นต่อไป
จึงทรงตัดพระหฤทัยสละความสูงส่ง
ความสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกประการที่ทรงเสวยอยู่
เสด็จออกทรงเผชิญความทุกข์ยากนานาประการ
เพื่อแสวงหาทางที่จะทรงสามารถ
นำไปสู่ความพ้นทุกข์ของสัตว์โลกทั้งปวง
พระพุทธศาสนามีจุดเริ่มเกิดที่ตรงนี้
ตรงที่ทรงมีพระมหากรุณาอย่างบริสุทธิ์แท้จริงต่อสัตว์โลก
 ไม่มีความกรุณาของผู้ใดเปรียบได้
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรดำเนินตามพระพุทธองค์.





โดย. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
จากหนังสือ. แสงธรรม ส่องใจ๑
พร อันประเสริฐ ความดีย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม.








ไม่มีอะไรเป็น "ของฉัน"



ไม่มีอะไรเป็น "ของฉัน" มันก็ไม่ทุกข์


อากาศตอนนี้ญาติโยมก็บ่นว่าร้อนๆ ไปตามๆกัน 
ซึ่งความจริงมันก็ร้อนนั่นแหละ เหงื่อไหลไคลย้อยตลอดวัน 
แต่ว่าความร้อนนี่มันก็ไม่เที่ยง 
คือ ไม่เท่าใดก็หมดร้อน แล้วก็ถึงหน้าฝนต่อไป 
เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ 
เราจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ 
เราก็ต้องทนอยู่กันไปตามเรื่องตามราวจนกว่าจะหมดเรื่องนั้นไป 
การที่จะ อยู่ได้ตามปกตินั้น 
จะต้องหมุนจิตใจของเราให้เข้ากับสิ่งที่เกิดอยู่เป็นอยู่ 
คือให้พอใจแค่นั้นเอง 
ถ้าพอใจแล้วมันก็ไม่มีอะไร 
ถ้าไม่พอ ใจแล้วก็เกิดความเดือดร้อน


เคยพบพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในห้อง เหงื่อท่วมตัว 
อาตมาก็ไปถามว่าไม่ร้อนหรือ 
ท่านก็บอกว่ามันเรื่องธรรมดา ท่านตอบว่าอย่างนั้น 
แล้วท่านนั่งทำงานไปตามปกติ 
ไม่รู้สึกว่ากระวนกระวาย จิตใจมันเป็นปกติ 
เหงื่อมันออกมาเป็น เรื่องของร่างกาย 
แต่ว่าใจนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 
นั่งทำงานได้ปกติตลอดเวลา 
อันนี้แสดงว่าท่านผู้นั้นรู้จักหมุนจิตใจต้อนรับสถานการณ์นั้น 
แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น


คนเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราควรจะอยู่ให้เบาใจสบายใจ 
อย่าอยู่ให้มีความทุกข์ความหนักใจ 
เพราะเมื่อมีความหนักใจขึ้นเมื่อใดแล้ว 
เราก็ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ 
ถ้าเราไม่มีความหนักใจ 
แม้ว่าร่างกายเราจะหนักเพราะการเปลี่ยนแปลง 
แต่ตัวเราก็ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะเรื่องอย่างนั้น 
อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ


คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเทวทัตทุ่มหินลงมา 
แต่ว่าหินนั้นไม่ถูกพระองค์ เพราะไปชนต้นไม้ 
สะเก็ดนิดหนึ่งมากระทบถูกพระชงฆ์ 
คือ หน้าแข้งของพระพุทธเจ้า เลือดไหลซิบๆ ออกมา 
หมอโกมารภัจจ์ก็ทำยาไปปะแผลให้ยาที่ปะนั้นเป็นยาร้อน
ก็คล้ายๆ กับทิงเจอร์ที่เราใช้กัน 
แต่ว่าใช้ใบไม้ประเภทหนึ่ง เอามาพอกไว้ 
แล้วหมอก็กลับบ้าน หมอก็นอนไม่หลับตลอดคืน มีความเป็นห่วง 
เพราะนึกในใจว่า ยาที่พอกนั้นเป็นยาที่ร้อน 
พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ได้บรรทม 
เพราะความร้อนของยาที่ผิวหนัง 
ตื่นแต่เช้ามืดมาเฝ้าดูพระผู้มีพระภาคเจ้า 
แล้วก็ถามไปด้วยอาการร้อนรนกระวนกระวายใจว่า 
“เมื่อคืนนี้พระองค์บรรทมหลับเป็นปกติหรือเปล่า” 
พระผู้มีพระภาคกลับตอบว่า 
“เราบรรทมหลับเป็นปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” 
หมอก็บอกว่า “ข้าพระองค์นอนไม่หลับเมื่อคืนนี้ 
เพราะมีความกังวลที่ยาปะแผลของพระองค์ว่ามันร้อน” 
พระผู้มีพระภาคกลับตรัสตอบแก่หมอนั้นว่า
“ความร้อนทั้งหลายเราได้ดับมันหมดแล้วที่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ 
เวลานี้ความร้อนเหล่านั้นไม่มี ท่านจึงไม่ต้องเป็นห่วง 
ไม่ต้องมีความทุกข์ในเรื่องเกี่ยวกับความร้อนต่อไป” 
อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงด้านความสงบเย็นของจิตใจ
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 
พระองค์ไม่มีความร้อน มีแต่ความสงบเย็น 
ความร้อนนั้นได้ดับไปตั้งแต่
วันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ใต้ต้นโพธิ์แล้ว 
ต่อจากนั้นก็ไม่มีความร้อนอะไร 
จะนั่งอยู่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน จะนั่งอยู่ในที่เย็นก็ไม่เย็น 
จะอยู่ในที่ใดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของท่าน


อันนี้เป็นเรื่องพิเศษที่จะเกิดมีเฉพาะบุคคล
ที่มีจิตหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง 
หรือพ้นแล้วจากการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวเรื่องตน 
ที่เราเรียกในภาษาธรรมะว่า “อัตตวาทุปาทาน” 
คือ การยึดมั่นถือ มั่นในตัวฉันในของของฉัน 
ถ้ายังมีความยึดมั่นอยู่ตราบใด 
ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ ความร้อนก็ยังมีอยู่ 
อะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็มีอยู่กับผู้นั้น 
แต่ว่าถ้าถอนความยึดมั่นถือมั่นได้เมื่อใด 
สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี 
มันมีของมันอยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่ว่าไม่มี 
แต่ว่าจิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น 
เช่น ว่าความร้อนทางกายก็มีอยู่ เจ็บปวดมันก็มีอยู่ 
แต่ว่าจิตไม่ปวดในเรื่องนั้น ไม่ได้เจ็บไปกับเรื่องนั้น 
ดูอาการมันเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในใจ 
อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ...


แต่ว่าจิตของพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่มีเหมือนเรา 
จิตท่านแตกต่างจากเรา 
เพราะท่านปฏิเสธหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของท่าน 
อะไรๆ มันเกิดขึ้นท่านก็เฉยๆ คล้ายๆกับเรื่องอย่างนี้ 
เหมือนกับว่ามีอะไรของใครเขาหาย 
เราไม่ได้เป็นทุกข์กับเขา 
เช่นว่า คนหนึ่งเขามีของหายไป เรารู้เราก็เฉยๆ 
ที่เฉยๆ ก็เพราะว่าของนั้นมันมิใช่ของเรา 
บ้านคนอื่นถูกไฟไหม้อยู่ห่างไกลจากบ้านเรา 
เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อนใจ 
ที่ไม่ได้เป็นทุกข์ก็เพราะว่า
เราไม่ได้นึกว่าเป็นบ้านของเราอยู่นั่นเอง 
แต่ถ้าว่าบ้านของเราถูกไฟไหม้ 
เราก็ร้อนอกร้อนใจมีความทุกข์ความเดือดร้อน 
ความทุกข์ความเดือดร้อนตัวนี้เกิดขึ้น
เพราะจิตเข้าไปยึดถือว่าเป็นบ้านของฉัน 
เงินทองของฉัน อะไรๆ ของฉัน 
พอเอาคำว่า “ของฉัน” เข้าไปใส่ไว้ไม่ว่าในเรื่องอะไร 
ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที เพราะเรื่องเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น 
อันนี้แหละเป็นเรื่องที่มีอยู่
ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนที่เราพอมองเห็นได้ 
คือมองเห็นได้ว่า ถ้าเมื่อใดใจเราปล่อยวางเสียได้ 
เราก็สบายใจ แต่เมื่อใดเรา เข้าไปยึดถือมันไว้ 
เราก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ


อันนี้สังเกตได้ง่าย ขอให้เราสังเกตคือการศึกษาธรรมะน่ะ 
เรารู้หลักทางหนังสือแล้วต่อไป
ก็ต้องเอามาค้นคว้าจากพฤติการณ์ของเราเอง 
จากความคิด จากการกระทำของเรา 
แล้วคอยสังเกตว่า เวลาที่เกิดทุกข์นี่มันทุกข์เพราะอะไร 
เวลาทุกข์ที่หายไป มันหายไปเพราะอะไร 
เพื่อจะค้นหาสมุฏฐานของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา 
ถ้าหากเราสังเกตจะพบว่า 
สิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์นั้น ก็คือการยึดมั่นถือนั่นเอง 
เราจึงเรียกว่า “อุปาทาน” ตามภาษาธรรมะ 
พอมีอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด ใจมันก็ไปติดอยู่กับสิ่งนั้น 
ไปยึดอยู่กับสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป 
ไม่เหมือนใจไม่สมใจเราก็มีความทุกข์ขึ้นมาทันที


อันนี้เป็นเครื่องชี้อยู่ในตัวแล้วว่า 
เราเป็นทุกข์เพราะ มีความยึดมั่นถือมั่น 
ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ต้องผ่อนคลาย 
ความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากใจของเราเสียบ้าง


ที่มา...ASTV ผู้จัดการออนไลน์
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐) 
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 113 เมษายน 2553 
โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) 
วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

" ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ติด.... "โดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ





ปัญญาที่แท้จริงทำให้ไม่หลงยึดติด....

ความติดนี่มันเป็นทุกข์...เมื่อไม่ติดมันก็ไม่เป็นทุกข์ 

เรามีอะไร เราใช้อะไร โดยไม่ต้องติดจะได้หรือไม่...ได้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าได้ ใช้โดยไม่ติด รับโดยไม่ติดในสิ่งนั้น
เราทำอย่างไร....? เราก็....ใช้ปัญญาพิจารณาไว้ให้รู้ว่า...

รูป...นั้นคืออะไร ?
รูป...นั้นเป็นของจริงแท้หรือไม่ ?
เสียง...มันมีจริงมีแท้ไหม ?
หรือมันเป็นเพียงแต่ลมผสมกันเข้ากับความอยากในจิตใจ
เปล่งเสียงออกมาเป็นคำด่าคำชมคำติว่าอะไรต่างๆ...
แล้วมันคงทนถาวรหรือเปล่า...มันก็หายไป

เสียงพูดเข้าไมโครโฟนแล้วมันก็หายไป พอหยุดพูดมันก็ไม่มี
เสียง พอพูดต่อเสียงมันก็มาต่อไป...'เสียง' ไม่ได้เกิดก่อน
หรือเกิดหลังการพูด แต่มันเกิดพร้อมกันพอพูดปุ๊บ
มันก็เข้าไปในไมโครโฟนทันที 
แล้วเข้าเครื่องออกไปเป็นเสียงดังฟังทั่ววัด...

เสียงนั้นมันไม่ใช่ของแท้ มันเป็นของผสมปรุงแต่งจึงเกิด
เป็นเสียงขึ้น ถ้าเราฟังว่ามันดี...ก็อย่าไปยึดถือ
ไม่ดี...ก็อย่าไปยึดถือ อย่าไปยินดีในเสียงนั้น 
อย่าไปยินร้ายในเสียงนั้น ให้มีปัญญารับด้วยปัญญา...
ก็คือรับว่าเสียงนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่เสียงนี้เป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ถ้าเราเข้าไปยึดทุกข์ไหม ? ถามตัวเองอย่างนั้น

ถ้าเรามีปัญญาก็ตอบว่า ไม่ควรจะเข้าไปยึดถือเสียงนั้น...
แต่ควรรู้จักมันไป ดูมันไป มันเคลื่อนไหวไปในทางไหน
เราก็ดูตามมันไป เหมือนเราแอบดูผู้ร้ายเข้าบ้านแอบดูไว้ว่า
มันไปทางไหน...มาทางไหน แล้วก็แอบโทรฯ ไปบอกตำรวจ
ตำรวจก็จับเอาไป เรามีสติปัญญาก็ใช้อย่างนั้น...
คอยกำหนดมันไว้ว่าอะไรเกิดขึ้น...

'ตา'...เห็นรูป เกิดความรู้สึกทางตา แล้วก็เกิดอะไรต่อไป
ตามลำดับจนเกิดความยึดมั่นในสิ่งนั้น นั่นเป็นความผิด
จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเราเอง เราก็ไม่ยึด...

แต่ว่าเรารู้ว่ามันคืออะไร...
มองตลอดสายสายตั้งแต่ต้น...กลาง...ปลาย
รู้หมดว่ามันคืออะไร...มันจะทำอะไรให้เกิดขึ้น ก็ปล่อยให้
มันเกิดไปตามเรื่อง ดับไปตามเรื่องของมัน 
เราอย่าไปเก็บไว้ อย่าไปกักไว้....ฯ



วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

** ทุกข์ หรือ สุข มีค่าเท่ากัน **



“ผู้ใดยึดในทุกข์ ก็จะประดุจโดนงูเห่ากัด
ผู้ใดยึดในสุขก็เสมือนจับงูเห่าข้างหาย
และจะโดนมันแว้งกัดเอาในภายหลัง”





ดังนั้น ความสุขกับความทุกข์ อารมณ์ชอบใจกับไม่ชอบใจนั้น จึงมีค่าเท่ากัน ถ้าหลงยึดเข้าแล้วก็ให้โทษแก่เราเหมือนๆ กัน เมื่อเราคุ้มครองจิตโดยอาศัย สติดี สัมปชัญญะดี ความพากเพียรถูกต้อง พรั่งพร้อมด้วยความเกรงกลัว ความละอายต่อบาป และความอดทนอดกลั้น
ต่ออารมณ์ที่รุนแรงแล้ว เราย่อมจะเป็นผู้อยู่เหนืออารมณ์ ด้วยจิตที่รู้ ตื่น และเบิกบาน รู้ว่า โลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป โดยที่ใจของเราไม่เกิดความหวั่นไหวคล้อยตามไปด้วย เปรียบเหมือนเราอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย และอบอุ่น ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร ฝนจะตกหรือแดดจะออก อากาศจะร้อน หรือหนาว บรรยากาศจะสงบนิ่งหรือมีพายุจัดเราเพียงแต่มองดูความเป็นไปจากทางหน้าต่างเท่านั้น
โลกธรรมที่เกิดขึ้นกับเราก็เหมือนธรรมชาติ เหมือนลมฟ้าอากาศ เป็นสิ่งไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา เราทำได้แต่เพียงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น
แต่บางครั้งบ้านของเราก็เกือบจะพังเหมือนกัน เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับทุกข์ บางครั้งเราก็ถูกกระทบจากสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง แต่เราก็ต้องอดทน และให้เวลาเป็นเครื่องแท้แม้จะเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ความเดือนร้อนใจเพียงใดก็ตามให้ตั้งสติ พิจารณาทบทวนความคิดของตัวเองให้ถูกต้อง





ที่มา. หนังสือ ๓๖ พรรษาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
โดย. พระอาจรย์มิตซูโอะ คเวสโก 
เรื่อง – ภาพ จากอินเทอร์เนต

"เวลาที่หายไป ในโลกออนไลน์" โดย. พระไพศาล วิสาโล





เด็กวัยรุ่นไทยในแต่ละวัน อยู่กับ เกมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต 3 ชั่วโมง ดูทีวีอีก 3 ชั่วโมง คุยโทรศัพท์อีก ๒ ชั่วโมง รวมแล้ว 8 ชั่วโมง ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของวัน แล้วเด็กจะมีเวลานอน เวลาเรียน เวลาออกกำลังกาย เวลาคุยกับพ่อแม่ได้อย่างไร

ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายมหาศาลในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กินเวลาเราอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในอินเทอร์เน็ตมีข่าวสารมากมาย อาตมาเอง
เสียเวลากับเรื่องนี้วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่น้อย แค่ตอบอีเมล์ก็เกือบชั่วโมงแล้ว ข้อมูลเหล่าในอินเทอร์เน็ตเหล่านี้บางทีก็อดใจไม่ไหวที่จะเปิดอ่าน เราจึงควรคุมตัวเองให้ได้ อย่าไปจมกับมันมาก เพราะมันจะดึงดูดเราลึกเข้าไปเรื่อยๆ ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปแบบนี้ มันจะดึงเราเข้าไปแบบไม่มีวันจบ ได้ข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเตือนใจให้รู้จักหยุด รู้จักพอ

ไม่น่าแปลกใจที่คนเราใช้เวลามากมายกับข้อมูลข่าวสาร หรืออยู่กับเทคโนโลยีไอที จนกระทั่งไม่มีเวลาเหลือ ในบ้านมีพ่อแม่ลูก 4 คน มีโทรทัศน์คนละเครื่อง แต่ละคนก็อยู่ในห้องตัวเอง ทั้งวันก็ต่างคนต่างอยู่หน้าจอโทรทัศน์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนไม่มีเวลาคุยกัน พ่อจะเรียกลูกมากินข้าว ต้องใช้โทรศัพท์มือถือเรียกลงมา บางคนถึงกับส่ง SMS หรือเขียนอีเมล์ถึงลูกให้ลงมากินข้าว

พระไพศาล วิสาโล
เพิ่มคำบรรยาย
"เวลาที่หายไป ในโลกออนไลน์"

เด็กวัยรุ่นไทยในแต่ละวัน อยู่กับ เกมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต 3 ชั่วโมง ดูทีวีอีก 3 ชั่วโมง คุยโทรศัพท์อีก ๒ ชั่วโมง รวมแล้ว 8 ชั่วโมง ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของวัน แล้วเด็กจะมีเวลานอน เวลาเรียน เวลาออกกำลังกาย เวลาคุยกับพ่อแม่ได้อย่างไร

ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายมหาศาลในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กินเวลาเราอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในอินเทอร์เน็ตมีข่าวสารมากมาย อาตมาเองเสียเวลากับเรื่องนี้วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่น้อย แค่ตอบอีเมล์ก็เกือบชั่วโมงแล้ว ข้อมูลเหล่าในอินเทอร์เน็ตเหล่านี้บางทีก็อดใจไม่ไหวที่จะเปิดอ่าน เราจึงควรคุมตัวเองให้ได้ อย่าไปจมกับมันมาก เพราะมันจะดึงดูดเราลึกเข้าไปเรื่อยๆ ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปแบบนี้ มันจะดึงเราเข้าไปแบบไม่มีวันจบ ได้ข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเตือนใจให้รู้จักหยุด รู้จักพอ

ไม่น่าแปลกใจที่คนเราใช้เวลามากมายกับข้อมูลข่าวสาร หรืออยู่กับเทคโนโลยีไอที จนกระทั่งไม่มีเวลาเหลือ ในบ้านมีพ่อแม่ลูก 4 คน มีโทรทัศน์คนละเครื่อง แต่ละคนก็อยู่ในห้องตัวเอง ทั้งวันก็ต่างคนต่างอยู่หน้าจอโทรทัศน์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนไม่มีเวลาคุยกัน พ่อจะเรียกลูกมากินข้าว ต้องใช้โทรศัพท์มือถือเรียกลงมา บางคนถึงกับส่ง SMS หรือเขียนอีเมล์ถึงลูกให้ลงมากินข้าว



ที่มา. facebook.com